คือวิธีการรักษา เมื่อเกิดฟันผุ ฟันเป็นรู หรืออุบัติเหตุต่อฟัน ที่ทำให้เนื้อฟันแตก หัก และเสียหาย จนทำให้ประสาทฟันมีการติดเชื้อ การรักษาการติดเชื้อด้วยการรักษารากฟันนี้ สามารถช่วยให้เราสามารถเก็บฟันซี่นั้นๆ ไว้ใช้งานต่อไปได้ ได้โดยไม่จำเป็นต้องถอนฟันออกไป
โพรงประสาทฟันคือชั้นกลางของฟัน ที่อยู่ถัดเข้าไปจากชั้นเนื้อฟันและชั้นเคลือบฟัน ประกอบไปด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท และ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่พยุงอวัยวะให้คงรูป เมื่อประสาทฟันติดเชื้อ อาจทำให้เกิดหนองที่ปลายรากฟัน ตามมาด้วยความเจ็บปวด ในบางรายความเจ็บปวดนั้น ไม่สามารถบรรเทาลงได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป
การรักษารากฟันด้วยขั้นตอนตามหลักวิชาการ ด้วยการนำเอาส่วนของฟันที่ผุ เส้นเลือด และเส้นประสาทที่อยู่กลางฟันซึ่งติดเชื้อนั้นออก ทำความสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ และใช้วัสดุเติมโพรงที่ว่างเปล่า จึงสามารถช่วยลดอาการปวดฟันและการติดเชื้อลงได้อย่างมาก เนื่องจากฟันไม่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่ในตัวฟันแล้ว
การรักษารากฟันจึงลดการสูญเสียฟันโดยการไม่ต้องถอนฟัน ทำให้เราสามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ใช้งานต่อไปได้
Step 1 การนำเอาโพรงฟันออกมา
การรักษารากฟัน เริ่มด้วยการวางแผ่นยางกั้นน้ำลาย ไว้รอบฟันซี่ที่จะรักษารากฟัน เพื่อกันไม่ให้น้ำลายเข้ามาในบริเวณที่รักษา และยังเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดจากวัสดุที่ใช้รักษาหรือ น้ำยาล้างคลองรากฟันไหลลงคอผู้ป่วย จากนั้นจึงใช้เครื่องมือเปิดตรงส่วนบนของฟัน เพื่อนำเอาเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อออก หากมีหนองใต้โพรงฟันก็จะนำออกมา ในคราวเดียวกันนี้ ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากการอักเสบติดเชื้อของฟันลงได้อย่างมาก ในขั้นตอนนี้
Step 2 การทำความสะอาดและเติมโพรงฟัน
ขั้นตอนต่อไปคือการทำความสะอาด และใช้เครื่องมือขยายโพรงประสาทฟัน ให้กว้างขึ้น เพื่อกำจัดเชื้อโรค และเพื่อให้สามารถเติมเต็มช่องว่างนี้ได้โดยง่าย ซึ่งฟันแต่ละซี่มีคลองรากฟันจำนวนไม่เท่ากัน อาจมีได้ตั้งแต่ 1-5 คลองราก และยังอาจมีคลองรากเล็กๆได้อีก ยิ่งมีจำนวนคลองรากมากก็ยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้น
Step 3 การปิดโพรงประสาทฟันและใส่ครอบฟัน
หลังจากทำความสะอาดรากฟันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเป็นการใส่วัสดุเติมโพรงประสาทฟัน ให้ปิดสนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ หลังจากรักษารากฟันแล้ว ควรมีการบูรณะ ในส่วนของตัวฟัน ด้วยการครอบฟัน เพื่อป้องกันเชื้อโรค บริเวณส่วนตัวฟัน ที่มีการสัมผัสน้ำลายและอาหารในช่องปาก และเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เนื่องจากฟันที่มีการรักษารากฟัน อาจมีความเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย